วัดพระธาตุแช่แห้ง


 

 

วัดพระธาตุแช่แห้ง มาถึงเมืองน่านไม่ได้มานมัสการ ถือว่ามาไม่ถึงเมืองน่าน

          ปูชนียสถานที่สำคัญของเมืองน่าน มีอายุกว่า 600 ปี ตามพงศาวดาเมืองน่านกล่าวว่า พญาการเมือง โปรดเกล้าให้สร้างขึ้นเพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่ได้มาจากเมืองสุโขทัย ระหว่างปี พ.ศ.1891-1901 สถาปัตยกรรมด้านโบสถ์ ของวัดพระธาตุแช่แห้งที่สำคัญ และแสดงให้เห็น ถึงแบบอย่างสถาปัตยกรรม และศิลปกรรมสกุลช่างน่าน แยกออกเป็น 2 แห่ง ได้แก่
วิหารหลวง อยู่ทางด้านทิศใต้ขององค์พระธาตุเป็นวิหารขนาดใหญ่ 6 ห้อง ห้องกลางมีขนาด 3 ห้อง และต่อชั้นลดออกไป ทางด้านหน้า 2 ห้องและด้านหลัง 1 ห้อง ดังนั้นหากดูจากภายนอก จะมองเห็นเป็นอาคาร ขนาดใหญ่ หลังคาลาดต่ำลงมาเป็นชั้นซ้อน ด้านละ 3 ชั้น และมีชั้นลดด้านหน้า 2 ชั้น ด้านหลัง 1 ชั้น มีประตูทางด้านหน้า และด้านข้างตรงกลาง ที่น่าสนใจคือ ตรงกลางสันหลังคา ทำเป็นส่วนหางของนาคสองตัว เกี่ยวกระหวัดกันขึ้นไปเป็นสามชั้น เป็นศิลปกรรม ที่งดงามและหาดูได้ยาก
วิหารพระนอน อยู่ทางด้านหน้านอกกำแพงแก้วขององค์พระธาตุ วิหารก่อสร้างตามแนวยางขององค์พระ มีประตูทางเข้า ด้านหลัง คือทิศใต้

          เจดีย์วัดพระธาตุแช่แห้ง พระธาตุแช่แห้ง ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำน่าน เป็นพระธาตุที่บรรจุ พระบรมสารีริกธาตุ ตามประวัติสร้างเมื่อ พ.ศ. 1896 อายุราว 600 ปีเศษ องค์พระธาตุแช่แห้ง เป็นพระธาตุ ที่มีขนาดสูงถึง 55.5 เมตร ตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัส กว้างด้านละ 22.5 เมตร มีสีเหลืองอร่าม เนื่องจากบุด้วย แผ่นทองเหลือง พระธาตุนี้ ตั้งอยู่ บนยอดดอยภูเพียงแช่แห้ง ลักษณะของเจดีย์ทรงระฆัง ส่วนฐานทำเป็นฐาน หน้ากระดานสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ รองรับฐานบัวลูกแก้วย่อเก็จ ถัดขึ้นไปเป็นฐานหน้ากระดาน สี่เหลี่ยม และแปดเหลี่ยม ซ้อนลดหลั่นกัน 3 ชั้น องค์ระฆังมีขนาดเล็ก บัลลังก์ทำเป็นแท่นสี่เหลี่ยมย่อเก็จ ฐานหน้ากระดาน กลม เป็นกระดานสี่เหลี่ยมและแปดเหลี่ยม และชั้นบัวคว่ำเหนือฐานแปดเหลี่ยม ตกแต่งคล้ายกลีบบัว หรือลายใบไม้ แทน ลายดังกล่าวนี้คงได้รับอิทธิพลจากศิลปะพม่า ซึ่งนำมาต่อเติมขึ้นภายหลัง เมื่อล่วงเข้าพุทธศตวรรษที่ 24 แล้ว

ปูชนียสถานศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองน่าน มาช้านาน ทุกปีเมื่อถึงวันขึ้น 11-15 ค่ำ เดือน 6 เหนือ (เดือน 4 ใต้) หรือในราวเดือน มี.ค. จะมีประเพณีนมัสการพระธาตุแช่แห้ง ที่ชาวน่านเรียกว่า งานหกเป็งนมัสการพระธาตุแช่แห้ง ที่สำคัญ เป็นพระธาตุประจำปีเถาะ ตามคติการไว้พระธาตุตามปีนักษัตรของชาวล้านนา

เว็บไซต์วัดพระธาตุแช่แห้ง : http://www.ch.or.th/index.php