|
ประวัติศาสตร์
เมืองน่าน ในอดีตเป็นนครรัฐเล็ก ๆ ก่อตัวขึ้นราวกลางพุทธศตวรรษที่ 18 บริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำน่านและแม่น้ำสาขา ในหุบเขา ทางตะวันออกของภาคเหนือ
|
ประวัติศาสตร์เมืองน่าน เริ่มปรากฏขึ้นราว พ.ศ. 1825 ภายใต้การนำของพญาภูคา ศูนย์การปกครองอยู่ที่เมืองย่าง (เชื่อกันว่าคือบริเวณริมฝั่งด้านใต้ ของแม่น้ำย่าง ใกล้เทือกเขาดอยภูคาในเขตบ้านเสี้ยว ตำบลยม อำเภอท่าวังผา) เพราะปรากฏร่องรอย ชุมชนในสภาพที่เป็นคูน้ำ คันดิน กำแพงเมืองซ้อน กันอยู่ ต่อมาพระยาภูคา ได้ขยายอาณาเขตปกครองของตนออกไปให้กว้างขวางยิ่งขึ้น โดยส่งราชบุตรบุญธรรม 2 คน ไปสร้างเมืองใหม่ โดย ขุนนุ่น ผู้พี่ไปสร้างเมืองจันทบุรี (เมืองพระบาง) และ ขุนฟองผู้น้องสร้างเมืองวรนครหรือเมืองปัว
|
|
ภายหลังขุนฟองถึงแก่พิราลัย เจ้าเก้าเถื่อนราชบุตรจึงได้ขึ้นครองเมืองปัวแทน ด้านพญาภูคาครองเมืองย่างมานาน และมีอายุมากขึ้น มีความประสงค์จะให้เจ้าเก้าเถื่อนผู้หลานมาครองเมืองย่างแทน จึงให้เสนาอำมาตย์ไปเชิญ เจ้าเก้าเถื่อนเกรงใจปู่จึงยอมไปอย ู่เมืองย่างและมอบให้ชายา คือนางพญาแม่ท้าวคำปินดูแลรักษาเมืองปัวแทน เมื่อพญาภูคาถึงแก่พิราลัย เจ้าเก้าเถื่อนจึงครองเมืองย่างแทน
|
ในช่วงที่เมืองปัวว่างจากผู้นำ เนื่องจากเจ้าเก้าเถื่อนไปครองเมืองย่างแทนปู่คือพญาภูคา พญางำเมืองเจ้าผู้ ครองเมืองพะเยา จึงได้ขยายอิทธิพลเข้าครอบครอง บ้านเมืองในเขตเมืองน่านทั้งหมด นางพญาแม่เท้าคำปิน พร้อมด้วยบุตรในครรภ์ ได้หลบหนีไปอยู่บ้านห้วยแร้ง จนคลอดได้บุตรชายชื่อว่าเจ้าขุนใส เติบใหญ่ได้เป็นขุนนาง รับใช้พญาคำเมืองจนเป็นที่โปรดปราน พญางำเมืองจึงสถาปนาให้เป็น เจ้าขุนใสยศ ครองเมืองปราดภายหลังมีกำลังพลมากขึ้นจึงยกทัพ มาต่อสู้จนหลุดพ้นจากอำนาจเมืองพะเยา และได้รับการสถาปนาเป็นพญาผานอง ขึ้นครองเมือง ปัวอย่างอิสระระหว่างปี 1865 - 1894 รวม 30 ปี จึงพิราลัย
|
|
ในสมัยของพญาการเมือง (กรานเมือง) โอรสของพญาผานอง เมืองปัว ได้มีการขยายตัวมากขึ้น ตลอดจนมีความสัมพันธ์ กับเมืองสุโขทัยอย่างใกล้ชิด พงศาวดารเมืองน่านกล่าวถึงพญาการเมืองว่า ได้รับเชิญจากเจ้าเมืองสุโขทัย (พระมหาธรรมราชาลิไท) ไปร่วมสร้างวัดหลวงอภัย (วัดอัมพวนาราม) ขากลับเจ้าเมืองสุโขทัย ได้พระราชทานพระธาตุ 7 องค์ พระพิมพ์ทองคำ 20 องค์ พระพิมพ์เงิน 20 องค์ ให้กับพญาการเมือง มาบูชา ณ เมืองปัวด้วย
|
พญาการเมือง ได้ปรึกษาพระมหาเถรธรรมบาล จึงได้ก่อสร้างพระธาตุแช่แห้งขึ้นที่บนภูเพียงแช่แห้ง พร้อมทั้งได้อพยพผู้คนจากเมืองปัว ลงมาสร้างเมืองใหม่ที่บริเวณพระธาตุแช่แห้ง เรียกว่า ภูเพียงแช่แห้งในปี พ.ศ. 1902 โดยมีพระธาตุแช่แห้งเป็นศูนย์กลางเมือง
|
|
หลังจากพญาการเมืองถึงแก่พิราลัย โอรสคือ พญาผากองขึ้นครองแทนอยู่มาเกิดปัญหาความแห้งแล้ง จึงย้ายเมืองมาสร้างใหม่ที่ริมแม่น้ำน่านด้านตะวันตกบริเวณบ้านห้วยไค้ คือบริเวณที่ตั้งของจังหวัดน่านในปัจจุบัน เมื่อปี พ.ศ. 1911
|
ในสมัยเจ้าปู่เข่งครองเมืองระหว่างปี พ.ศ. 1950 - 1960 ได้สร้างวัดพระธาตุช้างค้ำ วรวิหาร วัดพระธาตุเขาน้อย วัดพญาภู แต่สร้างไม่ทันเสร็จก็ถึงแก่พิราลัยเสียก่อน พญางั่วฬารผาสุมผู้เป็นหลานได้สร้างต่อจนแล้วเสร็จและได้สร้าง พระพุทธรูปทองคำปางลีลา ปัจจุบันคือ พระพุทธนันทบุรีศรีศากยมุนี ประดิษฐานอยู่ในวิหารวัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร
|
|
ในปี พ.ศ. 1993 พระเจ้าติโลกราชกษัตริษ์นครเชียงใหม่ มีความประสงค์จะครอบครองเมืองน่าน และแหล่งเกลือ บ่อมาง (ต.บ่อเกลือใต้ อ.บ่อเกลือ) ที่มีอย่างอุดมสมบูรณ์และหาได้ยากทางภาคเหนือ จึงได้จัดกองทัพเข้ายึด เมืองน่าน พญาอินต๊ะแก่นท้าว ไม่อาจต้านทาน ได้จึงอพยพหนีไปอาศัยอยู่ ที่เมืองเชลียง (ศรีสัชนาลัย) เมืองน่านจึงถูกผนวกเข้าไว้ในอาณาจักรล้านนาตั้งแต่นั้นมา
|
ตลอดระยะเวลาเกือบ 100 ปี ที่เมืองน่านอยู่ในครอบครองของ อาณาจักรล้านนา ได้ค่อย ๆ ซึมชับเอาศิลปวัฒนธรรมของล้านนา มาไว้ในวิถีชีวิต โดยเฉพาะการรับเอาศิลปกรรมทางด้านศาสนา ปรากฏศิลปกรรมแบบล้านนาเข้ามาแทนที่ศิลปกรรมแบบสุโขทัย อย่างชัดเจน ดังเช่น เจดีย์วัดพระธาตุแช่แห้ง เจดีย์วัดสวนตาล เจดีย์วัดพระธาตุช้างค้ำ แม้จะเหลือส่วนฐานที่มีช้างล้อมรอบ ซึ่งเป็นลักษณะศิลปะแบบสุโขทัยอยู่ แต่ส่วนองค์เจดีย์ขึ้นไปถึงส่วนยอดเปลี่ยนเป็นศิลปกรรมแบบล้านนาไปจนหมดสิ้น
|
ในระหว่างปี พ.ศ. 2103 - 2328 เมืองน่านได้ตกเป็นเมืองขึ้นของพม่า อยู่หลายครั้งและต้องเป็นเมืองร้าง ไร้ผู้คนถึง 2 ครา คือ ครั้งแรก ปี พ.ศ. 2247 - 2249 ครั้งที่ 2 ปี พ.ศ 2321 - 2344
|
ปี พ.ศ. 2331 เจ้าอัตถวรปัญโญ ได้ลงมาเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 เพื่อขอเป็น ข้าขอบขันทสีมา เจ้าอัตถวรปัญโญ หลังจากขึ้นครองเมืองน่านยังมิได้เข้าไปอยู่เมืองน่านเสียทีเดียว เนื่องจากเมืองน่าน ยังรกร้างอยู่ ได้ย้ายไปอาศัยอยู่ตามที่ต่างๆ คือ บ้านตึ๊ดบุญเรือง เมืองงั้ว (บริเวณอำเภอนาน้อย) เมืองพ้อ (บริเวณอำเภอเวียงสา) หลังจากได้บูรณะซ่อมแซมเมืองน่านแล้ว พร้อมทั้งได้ขอพระบรมราชานุญาตกลับเข้ามาอยู่ในเมืองน่าน ในปี พ.ศ. 2344 ในยุคสมัยกรุงรัตนโกสินทร์เมืองน่านมีฐานะเป็นหัวเมืองประเทศราช เจ้าผู้ครองนครน่านในชั้นหลังทุกองค์ ต่างปฏิบัติหน้าที่ราชการด้วยความเที่ยงธรรมมีความซื่อสัตย์ จงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ราชวงศ์จักรี ได้ช่วยราชการบ้านเมืองสำคัญหลายครั้งหลายคราด้วยกัน นอกจากนี้เจ้าผู้ครองนครน่าน ต่างได้ทำนุบำรุงกิจการพุทธศาสนาในเมืองน่าน และอุปถัมภ์ค้ำจูนพระพุทธศาสนาเป็นสำคัญ ได้สร้างธรรมนิทานชาดก การจารพระไตรปิฎกลงในคัมภีร์ใบลาน นับเป็นคัมภีร์ได้ 335 คัมภีร ์นับเป็นผูกได้ 2,606 ผูก ได้นำไปมอบให้ เมืองต่างๆ มีเมืองลำปาง เมืองลำพูน เมืองเชียงใหม่ เมืองเชียงราย และเมืองหลางพระบาง
|
|
ในปี พ.ศ. 2446 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงมีพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาให้เจ้าสุริยพงษ์ผลิตเดชฯ เลือนยศฐานันดรศักดิ์ขึ้นเป็น "พระเจ้านครน่าน" มีพระนามปรากฏตามสุพรรณปัฏว่า "พระเจ้าสุริยพงษ์ผลิตเดช กุลเชษฐมหันต์ ไชยนันทบุรมหาราชวงศา ธิบดี สุริตจารีราชนุภาวรักษ์ วิบูลยศักดิ์กิติไพศาล ภูบาลบพิตรสถิตย์ ณ นันทราชวงษ์" เป็นพระเจ้านครน่านองค์แรก และองค์เดียวในประวัติศาสตร์น่าน
|
ภายหลังได้รับการสถาปนาเป็นพระเจ้าน่าน พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ จึงได้สร้าง หอคำ (คุ้มหลวง) ขึ้นแทนหลังเดิมซึ่งสร้างในสมัยของ เจ้าอนันตวรฤิทธิเดชฯ และด้านหน้าหอคำ มีข่วงไว้ทำหน้าที่คล้ายสนามหลวง สำหรับจัดงานพิธีต่างๆ ตลอดจนเป็นที่จัดขบวนทัพออกสู้ศึก จัดขบวนนำเสด็จหรือขบวนรักแขกเมืองสำคัญ
|
และในปี พ.ศ. 2474 เจ้ามหาพรหมสุรธาดา เจ้าผู้ครองนครน่าน ถึงแก่พิราลัย ตำแหน่งเจ้าผู้ครองนครก็ถูกยุบเลิกตั้งแต่นั้นมา ส่วนหอคำได้ใช้เป็น ศาลากลางจังหวัดน่าน จนปี พ.ศ. 2511 จังหวัดน่าน ได้มอบหอคำให้กรมศิลปากร ใช้เป็นสถานที่จัดตั้ง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน จนกระทั่งปัจจุบัน
|
|
|
ขอขอบคุณข้อมูลจาก www.nan.go.th
|